วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ทิพย์อาสน์

วัด เป็นสถานที่ทางศาสนา ตามปกติแล้วจะมีเสนาสนะและอาคารถาวรวัตถุต่างๆ เป็นที่พํานัก อาศัยศึกษา ปฏิบัติพระธรรมวินัย และประกอบศาสนกิจของพระภิกษุ สงฆ์ ตลอดจนเป็นที่บําเพ็ญกุศลต่าง ๆ นอกจากนี้วัดยังเป็นศูนย์กลางบริการทางการศึกษาและทางสังคม รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณี วัดทั้งหลายมีฐานะทางกฎหมาย คือ เป็นนิติบุคคลเท่าเทียมกัน แต่ในทางพระวินัยมีฐานะแตกต่างกัน ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้จําแนกวัดออกเป็น 2 ชนิด คือ สํานักสงฆ์ และวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
        - สํานักสงฆ์ คือวัดที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา รวมถึงวัดที่ ได้รับพระบรมราชานุญาตตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 และวัดที่สร้างขึ้นก่อน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ซึ่งยังไม่ได้ รับพระราชทานวิสุงคามสีมาด้วย นับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ทางกฏหมาย
        - วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึง “อาราม” ตามที่ได้เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 เป็นวัดที่เลื่อนฐานะมาจากสํานักสงฆ์ โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เพื่อประโยชน์ แก่สังฆกรรมตามพระธรรมวินัยสําหรับพระสงฆ์ นับว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ด้วยฐานะทั้งทางกฎหมายและทางพระธรรมวินัยทุกประการ
        วัด หมายถึง สถานที่ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปกติมีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ รวมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัย
         คำว่า “วัด” เป็นคำเรียกชื่อศาสนสถานแบบคำไทย โดยที่มาของคำว่า “วัด” นี้ ยังไม่มีข้อยุติ ด้วยบางคนอธิบายว่า มาจากคำว่า “วตวา” ในภาษาบาลี แปลว่า เป็นที่สนทนาธรรมบ้างก็ว่ามาจาก“วัตร” อันหมายถึงกิจปฏิบัติหรือหน้าที่ของพระภิกษุที่พึงกระทำ หรือแปลอีกอย่างว่าการจำศีล ซึ่งวัด(วัตร) ตามนัยยะนี้จึงน่าจะหมายถึงสถานที่ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นที่จำศีลภาวนา หรือสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ปฏิบัติภาระกิจที่พึงกระทำนั่นเอง แต่ก็มีบางคนสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “วัดวา” อันหมายถึงการกำหนดขอบเขตของดินแดนที่สร้างเป็นศาสนสถาน เพราะวัดกับวามีความหมายอย่างเดียวกัน คือการสอบขนาด หรือปริมาณของสิ่งต่างๆ เช่น ความยาว ความกว้าง เป็นต้น วัดในนัยยะอย่างหลังนี้จึงหมายถึง พื้นที่
         แต่เดิมครั้งพุทธกาลนั้น มีการใช้คำว่า “อาราม” เป็นคำเรียกชื่อ ศาสนสถานในทางพุทธศาสนาที่ใช้เรียกเสนาสนะที่มีผู้ศรัทธาถวายพระพุทธองค์ในระยะแรกๆ เช่น “เชตวนาราม” หรือชื่อเต็มว่า “เชตวเนอนาถบิณฑิกสสอาราเม” ซึ่งมีความหมายว่า “สวนของอนาถบิณฑที่ป่าเชต” หรือ “เวฬุวนาราม” หรือ “บุปผาราม” เป็นต้น โดย “อาราเม” หรือ “อาราม” ในคำอ่านของไทยแปลว่าสวน นอกจากนี้ในเวลาต่อมายังมีคำที่ใช้เรียกอีกอย่างว่า “วิหาระ” หรือ “วิหาร”
        อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำที่ให้ความหมายว่าวัดอยู่อีกชื่อหนึ่ง คือ “อาวาส” ดังชื่อเรียกสมภารผู้ครองวัดว่า “เจ้าอาวาส” ซึ่งแปลว่าผู้เป็นใหญ่ในวัด หรือชื่อเรียกวัด เช่น เทพศิรินทราวาส( เทพ+ ศิรินทรา+ อาวาส ) โดยปกติคำว่าอาวาสไม่เป็นที่นิยมใช้กันในความหมายว่าวัด ทั้งนี้เพราะนิยมนำไปใช้กับความหมายที่แคบกว่าคำว่าอาราม โดยมักให้ความหมายในเชิงที่เป็นตัวเรือนที่อยู่อาศัยมากกว่า อาวาสจึงเสมือนเป็นที่อยู่ส่วนย่อยภายในอารามที่หมายถึงพื้นที่ที่เป็นศาสนสถานทั้งเขต